ผ้าทอและตีนจกเก้าลายไทยพวนศรีสัชนาลัย

ไทยพวนศรีสัชนาลัย
ลวดลายของผ้าซิ่นตีนจก
 

ผ้าทอไทยพวนศรีสัชนาลัยน้ันมี ๒ ประเภท คือ ผ้าทอเพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวัน ผ้าประเภทนี้จะไม่เน้นความประณีตสวยงามนักแต่จะเน้นความแน่นความหนาของเนื้อผ้า เพื่อให้คงทนให้ใช้ได้นานวัน ผ้าทอประเภทนี้ได้แก่ ผ้าซิ่นลายต่างๆ ผ้าห่ม ผ้านวม ผ้าพิ้นย้อมครามหรือย้อมมะเกลือ ผ้าทำถุงย่าม เป็นต้น

ส่วนผ้าทออีกประเภทหนึ่งนั้นทออย่างประณีตงดงาม เพื่อใช้ในโอกาสพิเศษหรือโอกาสสำคัญ ผ้าทอประเภทนี้ได้แก่ ผ้าซิ่นตีนจก ซึ่งสร้างชื่อเสียงและเกียรติภูมให้กับชาวไทยพวนศรีสัชนาลัยเป็นอย่างยิ่ง ลายตีนจกที่นิยมทอมีเก้าลาย ซึ่งมีชื่อเรียกขานว่า ลายเครือน้อย ลายเครือกลาง ลายเครือใหญ่ ลายมนสิบหก ลายสิบสองหน่วยตัด ลายน้ำอ่าง ลายท้องสอง ลายแปดขอ และลายสี่ขอ

ผ้าซิ่นคนพวนศรีสัชนาลัยนั้นจะจะมีส่วนประกอบอยู่สามส่วน คือ หัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่น ทั้งนี้เพราะสมัยโบราณนิยมทอด้วยฟืมหน้าแคบ "ตัวซิ่น" จะสั้นต้อง "ต่อหัว ต่อตีน" จึงจะนุ่งได้

ตีนจกทั้งเก้าลายมีความวิจิตรงดงามแฝงไว้ด้วยแง่คิดอันทรงคุณค่า เป็นลายตีนซิ่นที่หญิงชาวไทยพวนศรีสัชนาลัยประดิดประดอยมาเป็นตีนซิ่นของตนเอง และด้วยภูมปัญญาที่ชาญฉลาดจึงบังเกิดตีนจกถึงเก้าลายอันควรค่าแก่การบันทึกไว้มืให้ลืมหลง

ภาพแม่ลายหรือลายหลักของจกเก้าลาย

ลายเครือน้อย

ลายเครือน้อย เป็นลายง่ายๆ มีลายประกอบไม่มาก เป็นลายให้เด็กหญิงฝึกหัดทำตีนจก แม่ลายเครือน้อยจะมีลายเล็กประกอบ คือ ลายนกหมู่ ลายสร้อยหมาก และลายสร้อยสา ในสมัยโบราณเครือน้อยนิยมต่อกับซิ่นมุก
 

ลายเครือกลาง

ลายเครือกลาง เป็นลายหลักที่มีกรอบรูปร่างลายเครือน้อยเพียงแต่มีความยากเย็นในการจกลายเพิ่มมากขึ้น ส่วนประกอบของลายหลักนี้เป็น ลายนกคาบ ลายพันคิง ลายดอกหมี่ และลายสร้อยสา ต้องต่อกับซิ่นเข็น
 

ลายเครือใหญ่

ลายเครือใหญ่ เป็นลายหลักที่มีดอกไม้อยู่ตรงกลางเครือ ส่วนประกอบของลายหลักนี้เป็นลายนกคุ้ม ลายนกคาบ ลายันคิง ลายเครือขอ และต้องต่อกับซิ่นมุก
 

ลายมนสิบหก

ลายมนสิบหก เป็นลายหลักที่มีขอ ๑๖ ขอ รูปร่างของลายมีลักษณะกลม ภาษาพิ้นบ้านจะเรียกว่า มน (กลม) ลายนี้เป็นลายที่สวยงามมากกว่าลายอื่นๆ ส่วนประกอบของลายหลักนี้จะเหมือนกับลายอื่นทั่วไป ลายนี้ต้องต่อกับซิ่นตาเติบ
 

ลายสิบสองหน่วยตัด

ลายสิบสองหน่วยตัด เป็นลายหลักที่มีขอ จำนวน ๑๒ ขอ ประกอบกันเป็นดอกที่มีขาพันทำเป็นสามเหลี่ยมและยังมีนกคาบบหรือหงส์ตัวเล็กอยู่ตรงกลางของแม่ลายด้วย ลายหลักลายนี้ต่อกับซิ่นตาหว้า
 

ลายน้ำอ่าง

ลายน้ำอ่าง เป็นลายหลักที่มีนกหงส์สองตัวคาบดอกไม้ร่วมกัน คล้ายกับว่าหงส์สองตัวคาบดอกไม้ในอ่างน้ำนั่นเอง ลายหลักนี้สตรีชาวพวนศรีสัชนาลัยนิยมทอใส่กันมากที่สุด เนื่องจากเป็นลายที่มีความสะดุดตา และลายหลักนี้ต้องต่อด้วยซิ่นเข็น
 

ลายสองท้อง

ลายสองท้อง เป็นลายหลักที่มีความหมายแปลกกว่าลายอื่น คือ ครึ่งหนึ่งของลายจะเป็นสีดำส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะเป็นแดง เวลาจะพุ่งกระสวยสองสี แต่จะไม่ปล่อยให้กระสวยพุ่งไปจนหมดขอบซิ่น เมื่อปล่อยสีดำมายังลายที่กำหนดแล้วจึงย้อนกลับ เพราะฉะนั้นสึดำจะมีเพียครึ่งเดียว แล้วจะปล่อยกระสวยด้ายสีแดงมาด้วยวิธีเดียวกัน จึงต้องมีกระสวยสองอันในการทอหนึ่งผืนลายหลักนี้ต้องต่อด้วยผ้าซิ่นน้ำอ่อย
 

ลายแปดขอ

ลายแปดขอ เป็นลายที่มีความเหมือนกับลายมนสิบหกแต่ย่อขนาดให้เล็กลง ลายหลักลายนี้ต้องต่อด้วยซิ่นอ้อมแดงจะเป็นนกแถว
 

ลายสี่ขอ

ลายสี่ขอ เป็นลายขนาดเล็ก มีเครื่องประกอบลายกระจุ๋มกระจิ๋ม ใช้สำหรับต่อผ้าซื่นให้เด็กผู้หญิงตัวเล็กใส่
 

ภาพลายประกอบของจกเก้าลายและความหมาย

ลายนกคุ้ม

ลายนกคุ้ม เป็นลายที่มีความหมายถึงการอยู่คุ้มเหย้าคุ้มเรือนคุ้มผัวคุ้มเมีย บังเกิดความเป็นสิริมงคลต่อชีวิตคู่ การครองรักการครองเรือน แม่ลายขนาดเล็กนี้มักจะเป็นแม่ลายที่นำไปประกอบกับลายหลักอื่นๆ เกือบทุกลาย ซึ่งอาจจะสอดแทรกไว้ตรงที่ใดก็ได้ เนื่องจากความหมายอันเป็นสิริมงคลยิ่งนั่นเอง
 

ลายนกหมู่

ลายนกหมู่ เป็นลายที่มีความหมายถึงการไปเป็นหมู่เป็นพวก ไม่มีความขัดแย้งทางด้านความคิดและการกระทำ บังเกิดความสามัคคี แม่ลายขนาดเล็กนี้มักใช้เป็น ส่วนประกอบของลายเครือน้อยเท่านั้น ไม่นิยมที่จะนำไปประกอบลายหลักอื่นๆเพราะจะทำให้ไม่สวยงาม
 

ลายนกแถว

ลายนกแถว เป็นลายที่มีความหมายถึงการมีระเบียบในสังคมวงศ์วานว่านเครือ หรือที่เรียกกันว่าไปกันเป็นแถวเป็นแนว มีทิศทางในการประกอบการที่จะทำให้สังคมเจริญรุ่งเรืองในทาง้ดียวกัน แม่ลายขนาดเล็กนี้จะใช้เป็นองค์ประกอบของลาย ๘ ขอเท่านั้น

 

ลายนกคาบ

ลายนกคาบ เป็นลายที่มีความหมายถึงการคาบดอกไม้ร่วมกัน หรือกินน้ำร่วมกัน ทางภาษาเหนือเขาเรียกว่ากินน้ำร่มเต้า อีกนัยหนึ่งคือการให้สัจจะวาจาที่จะครองรักร่วมกับผู้เป็นสามีอย่างจีรังยั่งยืนนั่นเอง
 

ลายดอกหมี่

ดอกหมี่ เป็นแม่ลายขนาดเล็กที่นิยมนำมาประกอบกับหลายหลักทั่วไป ยกเว้นลายสองท้อง
 

โง๊ะ

โง๊ะ เป็นแม่ลายขนาดเล็กที่นิยมนำมาประกอบกับลายหลักที่เรียกว่า ลายสองท้องเท่านั้น
 

ลายฟันปลา

ลายฟันปลา เป็นลายที่สลับกันไปมาใช้ประกอบลายหลักเพื่อให้เกิดความงดงาม

ลายสร้อยหมาก สร้อยพร้าว

ลายสร้อยหมาก สร้อยพร้าว เป็นลายที่จะมีลักษณะคล้ายดอกหมากหรือดอกมะพร้าวที่ยังตูมอยู่ ลายนี้จะอยู่ติดแม่ลายใช้แทนลายเครือขอได้
 

ลายเครือขอ

ลายเครือขอ เป็นลายที่ติดขนาบกับลายหลักทั้งบนและล่าง เน้นลายหลักให้เด่นชัด
 

ลายสร้อยสา

ลายสร้อยสา เป็นลายขนาดเล็กที่จะอยู่ล่างสุดของตัวผ้าซิ่น เพื่อให้เกิดความอ่อนช้อยน่าสวมใส่ของผ้าซิ่นตีนจกนั่นเอง
 
กลับสู่ด้านบน >
 
ภาษาไทยพวนโบราณ
 
เกียรติคุณที่ได้รับ
 
ดูวีดีโอจากรายการต่างๆ
รวมรูปภาพ
 
 
ที่อยู่: 477/2 ต.หาดเสี้ยว อ. ศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัย 64130 โทร. 055 671143 แฟกซ์. 055 630119
 
 
© Copyright 2012. Sathorn Gold Textiles Museum. All rights reserved.