ฮีดคองชาวไทยพวนศรีสัชนาลัย

ไทยพวนศรีสัชนาลัย
ประเพณีการแห่นาคด้วยขบวนช้าง
 

"ฮีดคอง" เป็นคำที่เขียนตามภาษาพูดหมายถึง จารีตประเพณีขนบธรรมเนียมที่นิยมปฎิบัติสืบต่อการมา ฮีดคองของไทยพวนศรีสัชนาลัยนั้นมีมากมายตั้งแต่การเกิดถึงการตาย แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยพวนที่บรรพบุรุษ ได้สั่งสอนลูกหลานให้ประพฤติปฏิบัติดีก็จะปกปักษฺรักษา

ฮีดคองนั้นนับว่าเป็นวิถีชีวิตที่กำหนดให้ประพฤติปฏิบัติในแต่ละเดือน ดังนั้นจึงควรบันทึกไว้กันลืม

เดือนอ้าย

พิธีลงแขก
เป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะว่างเว้นจากการทำบุญ ชาวบ้านจะไปขอแรงกันเก็บเกี่ยวข้าว ฟาดข้าว และขนข้าว เข้ายุ้งเรียกว่า การลงแขก สมันก่อนที่มีการขอแรงกัน เจ้าของนาที่ขอแรงจากเพื่อนบ้าน จะเตรียมอาหารไว้เลี้ยงเลาพักกลางวัน และตอนเย็นก็จะมีสาโทเลี้ยงหลังจากการเสร็จสิ้นการทำงานในแต่ละวันที่มีการลงแขกในการทำงาน

เดือนยี่

เป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะว่างจากการทำบุญ เช่นเดียวกับเดือนอ้าย จะไม่มีขนบธรรมเนียมประเพณีอะไรมากนัก ชาวไทยพวนตำบลหาดเสี้ยวบางหมู่บ้านที่เสร็จสิ้นจากหน้านาแล้ว งานที่จะจัดคือ ประเพณีแต่งงาน ถ้ามีคู่บ่าวสาวรักใคร่ชอบพอกัน

เดือนสาม

ประเพณีกำฟ้า
กำ คือ ยึดหรือถือ ไม่ทำสิ่งที่ห้าม
ฟ้า คือ ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษชาวไทยพวนในอดีตชาติ เรียกว่า ผีฟ้า
"กำฟ้า" หมายถึง ประเพณีการหยุดพักไม่ทำการใดๆ เนื่องในอดีตชาวนาเกรงกลัวผีห้ามาก หากผีฟ้าพิโรธอาจทำให้เกิดความแห้งแล้งอดอยากหรือฟ้าอาจจะผ่าคนตาย จึงเกิดประเพณีกำฟ้าขึ้น เมื่อถึงวันกำฟ้าจะงดเว้นจากงานที่ปฏิบัติอยู่ประจำทั้งหมด ถึงวันนี้ทางชาวบ้านจะทำสำรับคาวหวาน ถวายพระเช้า-เพล ตอนสายๆและตอนกลางวัน เด็กๆจะเล่นไม้มะอื้อ (ไม้งัด) ส่วนในตอนกลางคืนเด็กเล็กและหนุ่มสาวจะเล่นนางกวักกันอย่างสนุกสนาน โดยปกติปีหนึ่งจะกำ ๓ ครั้ง หรือ ๓ วัน ในปัจจุบันจะมีการกำ ดังนี้

กำ ครั้งที่ ๑ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๓ ตั้งแต่ พระอาทิตย์ตกดินถึงพระอาทิตย์ตกดินของวันรุ่งขึ้น
กำ ครั้งที่ ๒ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๓ ตั้งแต่ พระอาทิตย์ตกดินถึงเวลาคืนเพล
กำ ครั้งที่ ๓ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๓ ตั้งแต่ พระอาทิตย์ตกดินถึงเวลาจังหันหรือเวลาฉันอาหารเช้าของพระสงฆ์

เดือนสี่

คล้ายคลึงกับเดือนยี่ เพราะเป็นฤดูกาลเสร็จสิ้นจากฤดูกาลทำนา ทำไร่แล้ว ที่หนุ่มสาวได้หมายปองกันไว้ หลังจากที่ได้เก็บหอมรอมริบทรัพย์สินกันเอาไว้ทั้งสองฝ่ายก็จะประกอบพิธีแต่งงาน ฝ่ายเจ้าบ่าวมาสู่ขอเจ้าสาวจากพ่อแม่ ฝ่ายเจ้าสาวจะเป็นฝ่ายเตรียมข้าวของเครื่องใช้ที่จะออกเรือน

เดือนห้า

ประเพณีสงกรานต์ไทยพวนศรีสัชนาลัย
เช้ามืดของวันที่ ๑๓ เมษายน ทุกคนจะตื่นขึ้นเพื่อไป "อาบน้ำก่อนกา" (อาบน้ำก่อนที่กาจะหากิน) ที่แม่น้ำยม เพื่อชำระบาป ให้โรคภัย เคราะห์กรรมลอยไปกับกระแสน้ำและอยู่เย็นเป็นสุข ในขณะเดียวกันจะมีการจุดพลุ ตะไล ยิงปืน ไล่ภูติผีปีศาจ อย่างคึกคัก เมื่ออาบน้ำก่อนกาเสร็จแล้ว จะจัดสำรับไปทำบุญที่วัด คนที่ไม่ไปวัดจะช่วยกันกวนข้าวเหนียวแดง จัดแช่ ข้าวหมักไว้ทำข้าวปุ้น (ขนมจีน)

วันสงกรานต์ ในวันที่ ๑๓-๑๔-๑๕ มีชื่อเรียกดังนี้
วันที่หนึ่ง เรียกว่า "วันสังขารล่อง"
วันที่สอง เรียกว่า "วันเนา"
วันที่สาม วันเถลิงศก เรียกว่า "วันสังขารขึ้น" หรือ "วันพญาวัน"

ในวันสงกรานต์ของชาวไทยพวนศรีสัชนาลัย จะเข้ากำตลอด ๓ วัน คือ ทุกคนจะหยุดทำงานหลักในบ้านไม่ออกไปนาไปไร่ งดใช้งานวัวควาย ไม่ทอผ้า ไม่ตีเหล็ก ถือเป็นการพักผ่อนและทำอาหารการกิน ทำขนมพิเศษเพื่อทำบุญและแจกเพื่อนบ้าน ในระหว่างที่ถือกำคนจะบ้านจะไม่ดุ ด่า ว่าเด็ก ไม่พูดคำหยาบ หากผู้ใดผิดจารีตถือว่านำความอัปมงคลมาสู่บ้านเรือน ในระหว่างฉลองงานปีใหม่ทั้ง ๓ วันนี้ เลาย่ำค่ำหนุ่มสาวจะมาร่วมวงเล่นการละเล่นพื้นบ้านกัน ในวันเนาทุกคนจะช่วยเตรียมอาหารเพื่อนำไปทำบุญตักบาตรที่วัดในวันพญาวัน มีการก่อเจดีย์ทราย สรงน้ำพระที่วัด ในวันพญาวันนี้ด้วย

นับจากวันพญาวันไปอีกเจ็ดวันจะเป็น "วันสังขารผู้เฒ่า" คือ สงกรานต์คนแก่ จะมีการ "สู่ขวัญ" คือ การทำขวัญผู้ใหญ่ในแต่ละบ้านที่มีคนแก่หรือคนสูงอายุ นับว่าเป็นการขอขมาลาโทษและขอพรจากผู้ใหญ่ และมีการทำพิธีไหว้ครูสำหรับผู้ที่เล่าเรียนวิชาคาถาอาคม มีการไหว้เครื่องมือ เครื่องใช้ไม้สอยในการประกอบอาชีพ เรียกว่า "การเลี้ยงสังขาร"

ประเพณีแห่นาคด้วยขบวนช้าง

ประเพณีนี้คือ การบวชที่นำช้างเข้ามาร่วมแห่ในพิธีบรรพชาอุปสมบท ผู้เฒ่าผู้แก่ในตำบลหาดเสี้ยวเล่าให้ฟังว่าการนำช้างเข้ามาร่วมในพิธีบวช มาจากคติความเชื่อในทางพุทธศาสนามาแต่ดึกดำบรรพ์ที่ว่าด้วยเรื่องใน
ทศชาติของพระโพธิสัตว์ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า คือชาติพระเวสสันดรซึ่งเป็นชาติที่บำเพ็ญทานบารมีก่อนจะออกบวช พระองค์ให้ทานช้างปัจจัยนาเคนทร์ (หรือปัจจัยนาค) ซึ่งเป็นช้างเผือกที่ชาวเมืองเชตุดรถือว่าเป็นมงคลหัตถีแก่พราหมณ์ทั้ง ๘ จากแคว้นกลิงคราษฎร์ที่มาทูลขอ

ความเชื่อเรื่องนี้เกี่ยวเนื่องกับอีกตำนานหนึ่งจากเรื่องเดียวกัน ตอนที่พระเจ้ากรุงสญชัย พระราชบิดาของพระเวสสันดร เชิญฟระเวสสันดรให้ลสบวชกลับมาเป็นกษัตริย์ตามเดิม พระองค์ได้จัดขบวนช้างม้าและรถประดับประดาเหมือนออกศึกสงครามให้สมเกียรติ เพื่อไปรับพระเวสสันดรและพระนางมัทรี ขบวนแหนแห่อักโขพิณีขับกล่อมด้วยมโหรีและการละเล่นต่างๆเป็นการเฉลิมฉลอง

เหตุผลสำคัญอีกอย่างหนึ่งมาจากความเชื่อในในคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ซึ่งมุ่งสั่งสอนให้ผู้บวชปฏิบัติตนเพื่อไปสู่โลกอุดรหรือโลกุตรธรรม คือ ธรรมอันพ้นจากโลก ได้แก่พระนิพพาน แต่คนทั่วไปเข้าใจว่า อุดร หมายถึงทิศเหนือและสัญลักษณ์ของทิศเหนือ คือ ช้าง ชาวไทยพวนศรีสัชนาลัย จึงจำสัญลักษณ์ที่เรียกว่า "โนนงก" มาเป็นส่วนร่วมในการแห่ช้างนาคมาจนถึงทุกวันนี้

การเตรียมกองบวช สมัยก่อนผู้ชายศรีสัชนาลัย เมื่อถึงเลาบวชจะต้องมีหญิงสาวซึ่งเป็นคู่รักมาช่วยทำกองบวชให้

กองบวช หมายถึง เครื่องอัฐกบริขาร ได่แก่ ผ้ากั้ง ผ้าคลุมหัวช้าง ผ้านั่ง ผ้ากราบพระและผ้าห่อคัมภีร์ ซึ่งจะต้องใช้ในพิธีบวช เมื่อเป็นพระแล้วก็ยังใช้อยู่
 
 
ประเพณีแห่นาคด้วยขบวนช้าง แต่เดิมจัดขึ้นในแรม ๓ ค่ำ เดือน ๔ และบวชในวันแรม ๔ ค่ำ เดือน ๔ แต่นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๔ เป็นต้นมา ได้เปลี่ยนเป็นวันที่ ๗ เมษายนของทุกปี แล้วจัดพิธีบวชในวันรุ่งขึ้นถัดมา ด้วยเหตุผลที่ว่าช่วงเวลานี้เด็กๆ ที่เรียนหนังสือจะปืดเทอม และคนที่ไปทำงานต่างถิ่นก็สามารถจะลาหยุด กลับภูมิลำเนามาบวชได้
   
   
   
ก่อนหน้าที่จะมีงานบวช ๑ วัน สตรีกลุ่มหนึ่งจะกะเกณฑ์กันไป "เถี่ยวบ้าน" อันมีความหมายถึงการออกเดินบอกบุญตามบ้านในหาดเสี้ยว ให้ไปช่วยกันร่วมงานแห่ในวันรุ่งขึ้น

ขบวนแห่จะมีปี่แแต้ (ปี่ชวา) และกลองรำมะนาเท่านั้น ไม่มีแตรวงอึกทึกครึกโครมเช่นปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการคงไว้ซึ่งประเพณีในอดีตกาลยังมีให้เห็นในเรื่องความวิจิตรงดงามของเครื่องแต่งกายนาค เครื่องประดับแพรวพราวเหล่านี้แฝงไว้ด้วยคติความเชื่อ ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้ คือ
เทริด (อ่าน เชิด) หรือที่เรียกว่า "กระโจม" ใช้สวมศรีษะเป็นเครื่องทรงของพระอินทร์ และเป็นสัญลักษณ์ของศรีษะนาค

แว่นตาดำ เครื่องประดับอันบอกถึงการเป็นผู้ที่มืดมิด เพราะยังไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยไตรสิกขา

สัจกัจจัง คือ แป้นวงกลมสำหรับประนมมือ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๗-๘ นิ้ว ด้ามเป็นรูปพญานาค อันมีความหมายแปลว่า ด้วยความเคารพ หรือ เครื่องหมายแห่งความเคารพ

หารนุ่งห่มด้วยผ้าสีม่วง ผ้าไหม เสื้อกำมะหยี่ สีสด และวาดคิ้ว เขียนตา ทาปากสีสดให้เหมือนกับสตรีแรกรุ่นเป็นสัญลักษณ์ที่เตือนให้รู้ว่า สังขารภายนอกที่สวยงามนั้นเป็นกิเลสที่ไม่คงทนถาร

ชาวไทยพวนศรีสัชนาลัยยังคงรักษาประเพณีการแห่ช้างบวชนาคไว้อย่างมั่นคง ในวันที่ ๗ เมษายน ของทุกปีจะมีประเพณีแห่ช้างบวชนาค และทางจังหวัดสุโขทัยให้ความสำคัญของประเพณีอย่างยิ่ง ได้ระบุในปฏิทินการท่องเที่ยวของจังหวัดสุโขทัย

เพื่อประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้มาชื่นชมประเพณีที่ยิ่งใหญ่และงดงามนี้

เดือนหก

ประเพณีทำบุญวิสาขบูชาหรือประเพณีบุญสลากภัตร
ประเพณีทำบุญวันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญในทางพุทธศาสนาที่ชาวไทยพวนศรีสัชนาลัยให้ความสำคัญ เช่นเดียวกับคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ พอใกลถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ชาวไทยพวนศรีสัชนาลัยจะเตรียมทำ ข้าวปุ้น (ขนมจีน) และขนมอื่น บางบ้านทำข้าวต้มผัด บางบ้านทำขนมเทียน (ขนมไส้เค็ม) เพื่อนำไปทำบุญ วันวิสาขบูชา หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ประเพณีบุญสลากภัตร
   
ถวายฉลอมสลากภัตร
 
 
แห่บ้องไฟรอบหมู่บ้านหาดเสี้ยว
   
ในวันนี้เฉพาะชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยวทุกหลังคาเรือนจะจัดเตรียมชะลอมผลไม้ ใส่ขนุน มะม่วง สับปะรด กล้วย ฯลฯ เพื่อไปทำบุญสลากภ้ตรในวันวิสาขบูชา แต่ปัจจุบันนี้ พระที่จำวัดในแต่ละวัดมีน้อย จึงเปลี่ยนแปลงการจัดงานวันสลากภัตรไม่ให้ตรงกันในแต่ละวัด เพื่อจะได้นิมนต์พระในแต่ละวัดมาร่วมงานวันสลากภัตรในแต่ละวัดในท้องที่ตำบลหาดเสี้ยวได้
 
ประเพณีบุญบ้องไฟ หรือบั้งไฟ
การทำบ้องไฟ ระยะเวลาที่ทำเริ่มตั้งแต่วันสังขารผู้เฒ่าจนถึงวันวิสาขบูชา แต่ก่อนมานั้นทำบ้องไฟที่วัด โดยจะมีชาวบ้านและญาติของพระภิกษุและสามเณรช่วยกันทำและประดับตกแต่ง แล้วนำบูชาปูชนียวัตถุสำคัญในวัด มีการกล่าวคำถวายเป็นพุทธบูชา มีการจับสลากหมายเลขลำดับที่จุดบ้องไฟ แล้วจะแห่ไปบูชาศาลเจ้าพ่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในหมู่บ้าน และนำไปตามจุดของแต่ละหมู่บ้านที่กำหนดไว้ ปัจจุบันทำบ้องไฟกันในแต่ละหมู่บ้านแล้วจึงนำไปรวมที่วัด มีพิธีการเหมือนเดิม

บ้องไฟมี ๔ ขนาด เรียกชื่อตามน้ำหนักของดินประสิวที่ใช้ทำ คือ "บ้องไฟฮ้อย (ร้อย) บ้องไฟพัน บ้องไฟหมื่น และบ้องไฟแสน" ส่วนช่างทำบ้องไฟ เรียกกันว่า "ช่างแทงบ้องไฟ" คือมีหน้าที่เจาะดินเชื้อเพลิงซึ่งพระหรือเณรตอกไว้ดีแล้วให้เป็นรูเพื่อใส่สายชนวนสำหรับจุดบ้องไฟ หากบ้องไฟจุดแล้วไม่ขึ้น คือ แตกบ้าง ระเบิดบ้าง เรียกว่า "บ้องไฟแตก บ้องไฟสุต"
 
ประเพณีทำบุญกลางบ้าน
งานทำบุญกลางบ้านมักกระทำกันในช่วงเดือนหก จะเป็นวันที่เท่าใดนั้นมักจะกำหนดเองจากความพร้อมของคนในชุมชน จุดประสงค์ของการมีบุญกลางบ้านเพื่อขจัดรังควาน และเพื่อเป็นศิริมงคลให้กับชุมชน

เมื่อกำหนดวันที่ทำบุญกลางบ้านแล้ว ชาวบ้านจะเตรียมกระทงและตระกร้าบรรจุของมาร่วมในพิธี กระทงจะทำจากกาบต้นกล้วย บางทีก็ทำเป็นเก้าช่อง ภายในกระทงมักจะประกอบด้วยข้าวแดง คือ ข้าวเหนียวหรือข้าวจ้าวคลุกกับปูนกินหมาก เพื่อให้มีสีแดง ข้าวเหลือง คือ ข้าวคลุกขมิ้น ข้าวดำ คือ ข้าวคลุกกับผงถ่านหรืองาดำและข้าวขาวกองไว้เป็นเป็นหย่อมๆ เพียงเล็กน้อย นอกจากนั้นยังมีธูป ๓ ดอก มีเทียน ๑ เล่ม มีรูปปั้นวัว ควาย ช้าง ม้า สัตว์เลี้ยงอื่นๆ เช่น เป็ด ไก่ ซึ่งสัตว์ปั้นเหล่านี้ทำด้วยดินเหนียว และที่ต้องมีทุกกระทง คือ ตุ๊กตาคนหนึ่งคู่ จะทำด้วยดินเหนียวหรือกาบกล้วยก็ได้ การทำก็ทำเพียงคร่าวๆ เช่น ทำแค่คอหยัก มีแขน ๒ ข้าง ขา ๒ ข้าง แล้วนำเศษผ้ามาห่มมาห่อ หรือพันรอบตุ๊กตา ดังกล่าว

ทั้งสัตว์ปั้นและตุ๊กตาคน เป็นสัญลักษณ์แทนสิ้งมีชีวิตในหมู่บ้านซึ่งชาวบ้านเอามาเซ่นบรวงสรวงแก่ผี ถือว่าได้เอาดวงวิญญาณจากคนและสัตว์ทั้งหลายไปแล้ว สัตว์ที่เหลือคือคนและสัตว์จริงจะได้มีชีวิตอยู่
 
ในตระกร้านั้นบรรจุน้ำ ๑ ขวด หินกรวด ๑ กะลา ทราย ๑ กะลา และใบหญ้า ๑ กำมือ ทั้งกระทงและตระกร้าจะนำไปรวมกันไว้ในบริเวณปะรำพิธี บริเวณที่จัดงานจะใช้บ้านของใครก็ได้ ที่มีสถานที่เหมาะสมแก่การร่วมชุมนุมของคนในหมู่บ้าน ซึ่งเมื่อใกล้ถึงวันที่จะจัดงานจริงจะมีการโยงด้ายสายสิญจน์จากทุกครัวเรือนในหมู่บ้านแล้วนำมารวมกันที่บ้าน ที่เป็นบริเวณจัดพิธีนั้น

บางหมู่บ้านจะมีการนิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์ในตอนเย็นก่อนงานจริง พอวันรุ่งขึ้นชาวบ้านจึงนำกระทง และตระกร้าดังกล่าวมาร่วมพิธีในช่วงเช้าจะนิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์ รับบิณฑบาต และฉันจังหัน (อาหารเช้า) ต่อจากนั้นจึงเอาของในตระกร้าไปวางตามที่กำหนด

เดือนเจ็ด

ช่วงเดือนเจ็ดเป็นฤดูกาลทำไร่ทำนาอันเป็นอาชีพหลักของชาวไทยพวนศรีสะชนาลัย เดือนนี้จึงไม่มีงานบุญประเพณีใดๆ ชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างไปทำงานที่ทุ่งไร่ทุ่งนาเช่นเดียวกับคนไทยในภูมภาคอื่น

เดือนแปด

ประเพณีวันเข้าพรรษา
ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ มีการทำบุญที่วัด แต่ละบ้านจะจัดทำสำรับอาหารคาวหวานถวายภัตราหาร เช้า-เพล แต่พระสงค์ ตอนสายมีพิธีถวายผ้าอาบน้ำฝนกันวันรุ่งขึ้นเป็นแรม ๑ ค่ำ ใส่บ้านตอนเช้าด้วยขนมไส้เค็ม (ขนมเทียน) จัดสำรับอาหารคาวหวานถวายภัตราหารเช้า-เพล ตอนสายทำพิธีถวายเทียนพรรษา กลางคืนมีเทศน์เรื่อง บุญเข้าพรรษาฉลองต้นเทียน

เดือนเก้า

ประเพณีกำเกียง
เป็นประเพณีตาม "ฮีดสิบสอง คองสิบสี่" มีดวามหมายว่า พิธีกรรมที่ยึดถือปฏิบัติเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของบรรพบุรุษไทยพวน ประเพณีนี้เริ่มตั้งแต่ตะวันขึ้นของวันแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๙ ถือเป็นวัน "งานกำเกียง" ถึงรุ่งเช้าแรม ๑๒ ค่ำ ทุกคนในหมู่บ้านไม่ทำงานหนัก
- ประเพณีกำฟ้าจะเข้ามาในเวลากลางคืนจนถึงกลางวัน
- ประเพณีกำเกียงจะเข้ากำในวันรุ่งเช้าจนถึงวันรุ่งสางของวันใหม่

โดยมีคำพูดที่ชาวบ้านจดจำว่า "กำเกียงกำคืนหน้า กำฟ้ากำคืนหลัง" วันกำเกียงวันสุดท้ายแรม ๑๑ ค่ำ ทุกคนในบ้านจะหาตระกร้าเก่าๆ หรือเย็บกระทงกาบกล้วย ๑ ใบ จากนั้นเอาดินเหนียวมาปั้นเป็นรูปตุ๊กตาสมมติเป็นคน ปั้นเท่ากับจำนวนคนในครอบครัว ปั้นหม้อข้าวหม้อแกง มีข้าวดำหรือข้าวสุกคลุกกับน้ำครามย้อมและข้าวแดง ซึ่งเป็นการนำข้าวสุกมาคลุกกับน้ำปูนเคี้ยวหมาก มีพริก มัเขือ กล้วยดิบ และมะเฟืองใส่ในตระกร้าหรือกระทงกาบกล้วย เย็นนั้นเมื่อกินอาหารเย็นอิ่มแล้วให้เหลือข้าวปละกับติดก้นจาน ตลอกทั้งคืนห้ามกินอาหารกันอีก เช้ามืดวันแรม 12 ค่ำ คนหนึ่งในบ้านจะต้องเอาตระกร้าหรือกระทงไปลอยน้ำ โดยถือมึดไปด้วย ในระหว่างที่ลอยกระทงหรือกระทงที่ห่างตัวเรานั้นให้ใช้มีดตัดสายน้ำเหมือนตัดตระกร้านั้นไปถือเป็นการ "ส่งผีย่าผีเกียง" โดยมีความเชื่อว่าครอบครัวจะได้ไม่เจ็บป่วย ไม่ล้มหายตายจากกันไป หากผีย่าผีเกียงต้องการลูกหลานไปรับใช้ไหว้วาน ขอให้รับหุ่นปั้นไปแทนแล้วครอบครัวจะอยู่เย็นเป็นสุข

"เกียง" มาจากคำว่า ผีย่าเกียง เป็นดวงวิญญาณของบรรพบุรุษไทยพวนที่เคารพนับถือ
ประเพณีห่อข้าวดำดิน
ประเพณีห่อข้าวดำดิน คือ การทำห่อข้าวและห่อกับข้าวเพื่อญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้ว ประเพณีห่อข้าวดำดินจะทำกันในวันแรม เดือน ๙ ประพเพณีจะเริ่มตั้งแต่เวลาหลังเที่ยงคืนของวันแรม ๑๔ ค่ำ เมื่อถึงเวลาดังกล่าวพระจะตีกุหลุ่ยซุ้ม (กลอง) ที่วัด เพื่อบอกกล่าวให้ได้รับรู้ว่า วันแรม ๑๕ ค่ำ จะมีญาติพี่น้องลูกหลานนำห่อข้าว ห่อกับข้าวมาอุทิศให้ ให้มารอรับที่วัด ห่อข้าวและห่อกับข้าวผูกมัดติดกันและเขียนชื่อผู้ล่วงลับใส่กระดาษแนบไว้ด้วยผุ็ตาย ๑ คน ต่อหนึ่งห่อ ห่อข้าวนี้พระจะฉัน ที่เหลือจะแจกทานให้ชาวบ้านนำไปกินได้

เดือนสิบ

ประเพณีทานข้าวสะ
ตรงกับแรท ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ พิธีเริ่มในตอนเย็นวันแรม ๑๔ ค่ำ ทุกคนจะจัดทำตระกร้า เอาข้าวเปลือกในยุ้งใส่ถุงเล็กๆ ๑ ถุง ขวดน้ำเล็กๆ ๑ ขวด ใบตองฉีกกว้าง ๒-๓ นิ้ว กลัดติดกัน ๒ข๓ ใบ หรือกี่ใบก็ได้ตามต้องการ ด้ายหลอด ดอกไม้ ธูปเทียน จัดของวางลงในตระกร้า เช้าวันแรม ๑๕ ค่ำ นำตระกร้านี้ไปวางไว้ที่หอสวดมนต์ในวัด เมื่อพระภิกษุสามเณรทำพิธีส่วนพระพุทธมนต์แล้วก็หยิบเอาใบตองในตระกร้ามาเขียน "สาธุ สาธุ ฝูงข้าทั้งหลายเอาสะข้าวมาบูชา" (สะ = มาก , เห้อ = ให้ ) จากนั้นเจ้าของตระกร้าก็จะมารับตระกร้าคืนกลับบ้านเอาข้าวเปลือกที่พระทำพิธีสวดให้ใส่เก็บไว้ในยุ้ง เป็นสิริมงคลแก่ข้าวเปลือกในยุ้ง เอาทรายซัดหว่านรอบบ้านถือเป็นทรายเสก เอาใบตองที่เขียนคำอวยพรใส่ ไว้ในยุ้ง ๑ ใบ ใส่ในโอ่งข้าวสาร ๑ ใบ ถือเป็นนิมิตหมายว่าจะกินข้าวไม่เปลืองข้าวไม่หมดยุ้งอีกใบหนึ่งนำไปไว้ที่นา ถือเป็นมงคลแก่เราที่จะให้ผลผลิตข้าวดี

เดือนสิบเอ็ด

ประเพณีออกพรรษา
งานนี้มีงานติดต่อกันถึง ๓ วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ จะทำข้าวปุ้น (ขนมจีน) ใส่สำรับภ้ตราหารเช้า-เพล เมื่อพระสงฆ์ฉันเช้าเสร็จแล้วก็จะมีเทศน์คาถาพัน เป็นเทศน์ภาษาพวน เมื่อจบก็จะต่อด้วยเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดก เมื่อพระเทศน์จบครั้งหนึ่งก็จะมีการตีฆ้องหมุ่ยเป็นสัญลักษณ์ให้พระองค์ต่อไปเตรียมเทศน์ต่อ ทำเช่นนี้จนถึงเวลาประมาณ ๖ โมงเย็น จึงเว้นช่วงรับประทานอาหารเย็นกัน ชาวบ้านจะนำอาหารไปแจกให้แขกที่มาร่วมกันทำบุญ เรียกว่า "แจกพาแลง" โดยมากจะเป็นหนุ่มๆสาวๆ บ้านต่างๆสาวๆมักจะถือถาดสำรับกับข้าว ส่วนหนุ่มนั้นจะถือตระกร้าข้าวเหนียวเดินตัวเปล่า

เมื่อไปถึงศาลาที่มีการเทศน์มหาชาติก็จะเริ่มนำอาหารออกวาง และเชิญชวนกันรับประทานโดยไม่เลือกว่าจะเป็นใครมาจากไหน แสดงความมีน้ำใจไมตรี คสามโอบอ้อมอารี สามัคคีรักใคร่ปองดอง สมกับเป็นพุทธศาสนิกชน เป็นคนไทยอย่างแท้จริง เมื่ออิมหนำสำราญแล้วก็จะเก็บภาชนะถ้วยโถโอชามกลับบ้าน เป็นโอกาสของหนุ่มๆที่ไปส่งหญิงสาวกลับบ้าน ได้แวะกินข้าวที่บ้านสาวร่วมกัน ตามรายทางไป

เมื่อถึงเวลาไปฟังเทศน์ต่อไปในตอนกลางคืน หนุ่มสาวในหมู่บ้านนั้นมักจะมีกัณฑ์เทศน์พิเศษไปร่วมกับเจ้าภาพด้วย คือ จัดของสำหรับถวายพระที่เทศน์พิเศษไปร่วมกับเจ้าภาพด้วย คือ จัดของสำหรับถวายพระที่เทศน์พร้อมด้วยปัจจัย เรียกว่า "กัณฑ์โดด" ซึ่งอาจจะเป็นพระมาจากบ้านอื่น ไม่แน่นอนเสมอไป ถ้าหากกัณฑฺ์โดดนั้นแห่มาตอนที่พระกำลังเทศน์ ก็จะถวายของแก่พระรูปนั้นแต่บางทีมีการเจาะจงตัวพระเทศน์เหมือนกัน อย่างนี้เรียกว่า "กัณฑ์มอง" คือมีการส่งคนไปสอดแนมดูเสียก่อนว่าพระที่จะขึ้นไปเทศน์รูปต่อไปนั้น เป็นพระที่หนุ่มสาวต้องการจะไปฟังหรือไม่ ถ้าใช่ก็จะเคลื่อนขบวนมา การเทศน์จะเทศน์ติดต่อกันถึงรุ่งเช้า วันขึ้น ๑๕ ค่ำ ชาวบ้านจะช่วยกันนำอาหารไปถวายพระอีกครั้งหนึ่ง และมีชะลอมถวายกัณฑ์เทศน์โดยจับฉลาก บ้านไหนจับได้กัณฑ์อะไรแล้วก็นำไปวางไว้ที่กองนั้น พระสงฆ์มีขึ้นเทศน์จะเป็นผู้รับถวายชะลอม ซึ่งกว่าจะเสร็จก็บ่าย ๒-๓ โมง จากนั้นชาวบ้านจะกลับไปเตรียมของ "ใส่บาตรเทโว" ในวันรุงขึ้นแรม ๑ ค่ำ ซึ่งเป็นการใส่บาตรข้าวสารและข้าวต้มลูกโยน

เดือนสิบสอง

ประเพณีแต่งงาน
เดือนสิบสองเป็นเดือนที่ชาวไทยพวนนิยมแต่งงาน (เอาผัวเอาเมีย) ขั้นตอนเช่นเดียวกับเดือนยี่ เดือนสี่และเดือนหกที่กล่าวมาแล้ว
ปรัเพณีทอดกฐิน (กฐินน้ำ)
งานบุญทอดกฐินจะจัดขึ้นหลังจากที่ออกพรรษาแล้ว ศรัทธาคนไหนได้จองกฐินที่วัดไหนไว้แล้ว ก็จะจัดพิธีทอดกฐินซึ่งเป็นประเพณีที่มักจะจัดขบวนเรือแห่ไปทอด โดยจัดขบวนเรือเครื่องกฐิน และตามด้วยขบวนเรือหญิง ขบวนเรือชาย เรียกว่าลงเฮือซ่วง ออกเรือกันแต่เช้าประมาณ ๘ โมงเช้า พายทวนน้ำแม่น้ำยมตามขบวนแห่กฐินนี้ทุกคนจะห่อข้าวไปกินกลางทาง หรือเจ้าภาพที่จัดทอดกฐินจะเตรียมอาหารไปเผื่อ เพื่อไม่ให้เสียเวลาเมื่อถึงวัดขนเครื่องกฐินทำพิธีถวายแล้ว จากนั้นก็ถึงคราวการละเล่นที่สนุกสนาน ในลำน้ำหน้าวัดบ้างก็แข่งประลองฝีพายกัน ขากลับก็ปล่อยเรือล่องตามลำน้ำ ระหว่างทางทั้งเรือชายเรือหญิงก็จะเคียงคู่กันมา มีประลองฝีมือพายกัน มีการลำพวนร้องเพลงเรือเย้าแหย่กระเซ้ากันครื้นเครงที่เรียกตามภาษาพวนว่า "ลงเฮือซ่วง" (เฮือ = เรือ)

เมื่อกลับมาถึงบ้านยามบ่ายจวนพลบค่ำจะมีการแข่งเรือพายกันอีกครั้งหนึ่งที่ลำน้ำหน้าวัดหาดเสี้ยว หรือวัดหาดสูงจนเกือบมืด จึงแยกย้ายกันกลับบ้าน

ปัจจุบันแม่น้ำยมมีสภาพตื้นเขิน น้ำหลากไม่ตรงตามฤดูกาล เรือหายาก จึงเปลี่ยนเป็นการทอดกฐินทางบกตามวัดที่อยู่ในตำบลหาดเสี้ยว หรือวัดที่อยู่ตำบลใกล้เคียงในเขตอำเภอศรีสัชนาลัยแทนเรียกว่า "กฐินบก"
   
เฮือข่วง (เรือแข่ง)
 
 
ประเพณีลอยกระทง
   
ประเพณีลอยกระทง
งานบุญเดือนนี้ เป็นช่วงที่หนุ่มสาวได้มีโอกาสร่วมงานบุญด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง คือ งานเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ซึ่งจัดทำกระทงไปพร้อมกันที่วัดในคืนวันเพ็ญเพื่อให้พระได้ทำพิธีนำถวายบูชา และนำไปลอยที่ำน้ำยมที่ท่าน้ำหน้าวัด หรือบ้างก็นำไปลอยน้ำยมข้างบ้าน
 
กลับสู่ด้านบน >
 
ภาษาไทยพวนโบราณ
 
เกียรติคุณที่ได้รับ
 
ดูวีดีโอจากรายการต่างๆ
รวมรูปภาพ
 
 
ที่อยู่: 477/2 ต.หาดเสี้ยว อ. ศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัย 64130 โทร. 055 671143 แฟกซ์. 055 630119
 
 
 
© Copyright 2012. Sathorn Gold Textiles Museum. All rights reserved.