ประเพณีการให้กำเนิด

ไทยพวนศรีสัชนาลัย
ประเพณีการให้กำเนิด
 

เวลาที่งดงามของชีวิตช่วงหนึ่่งคือการให้กำเนิดชีวิตใหม่ จึงอยากเล่าเรื่องประเพณีข้อปฎิบัติที่เกี่ยวกับการคลอดลูกในสมัยก่อนเก่าเอาไว้

เมื่อเมียตั้งท้องเข้าเดือนที่ ๘ ผัวต้องเตรียมไม้ฝืนสะแกไว้ให้เมียอยู่ไฟ ฟืนไม้สะแกมีความยาวประมาณ ๒ ฟุต จากหัวไร่ปลายนาจะถูกนำมา "ตั้งจุ๊บ" (ตั้งรวมพิงกัน) ไว้ที่ "กางบ๊าน" (ลานบ้าน) เป้นการบอกให้รู้ว่าบ้านนี้มีคนตั้งท้องใกล้คลอด ไม้ฟืนจะตากแดดตากฝนน้ำหมอกน้ำค้างไม่ต้องเก็บที่ใต้ถุนบ้าน เพราะไม่ต้องการให้แห้งจัดเวลาติดไฟจะได้ไม่ลุกแรงจนเกินไป เมื่อถึงวันคลอดกองฟืนนี้ จะถูกผลักให้ล้มลงเพื่อสื่อความว่าคลอดแล้ว

การคลอดลูกจะมี "แม่หมอตำแย" เป็นผู้ทำคลอด เมื่อลูกออกมาแล้วจะตัด "สายแห่" (สายรก) ด้วยผิวไม้ไผ่ที่คมกริบ จะมัดสายสะดือด้วยเส้นด้ายหรือเชือก รกจะใส่ "บั้งไม้ไผ่" (กระบอกไม้ไผ่) ฝังไว้ที่ใต้บันไดเพื่อให้เด็ก "แก่นบ้านแก่นเมือง" (รักบ้านเกิด)

สถานที่คลอดและอยู่ไฟคือ "กวงซ้วม" กองไฟจุดบน "คีไฟ" ที่ตีเป็นกรอบสี่เหลี่ยมรองพื้นด้วยไม้กระดาน ต้นกล้วยตัดเป็นท่อนๆ วางบนไม้รองอีกชั้นหนึ่งก่อนที่จะรำดินมาใส่ให้เต็มกระบะ ทั้งนี้ "คีไฟ" ต้องทำอย่างรอบคอบ้พื่อไฟจะได้ไม่ไหม้ถึงพื้นเรือน

ส่วนที่อยู่ไฟนั้นจะนำไม้กระดานแผ่นกว้างๆ อาาจะเป็นแค่ไม้แผ่นเดียวหรือ ๒-๓ แผ่นต่อกัน มีไม้ขอนรองหัวท้ายให้สูงเสมอกองไฟ แม่ลูกอ่อนจะนอนหันหน้าเข้าหากองไฟนี้ นอกจากนี้บางครั้งแม่ลูกอ่อนจะลุกมานั่งที่ตั่งหวาย จะนำ "โป้" (กะลามะพร้าวผ่าซึก) บรรจุขี้เถ้า นำถ่านไฟมาใส่ เอาเมล็ดฝ้ายและพริกแห้งอย่างละ ๑ เม็ด มาสุมในกะลานี้ ให้ควันและความร้อนขึ้นไปอบตัว เป็นการขับน้ำคาวปลาวิธีหนึ่ง

ในวันคลอดนั้นจะไปไหว้วานหญิงผู้ที่มีบุคลิกดี พูดจาไพเราะ เลี้ยงลูกได้ดี มาเป็นผู้มัดข้าวต้มตองแขม (ใบกง) เพื่อนำไป "แก้มเค้า" (ป้อนข้าว) ทารกแรกเกิด โดยเอาส่วนแหลมของข้าวต้ทแตะที่ปาก เป็นการแสดงว่าได้ "กินเค้า" แล้ว

เด็กแรกเกิดจะเรียกว่า "น้องแอ" บ๊ะแอน้อย (เด็กผู้ชาย) อี่แอน้อย (เด็กผู้หญิง) แม่จะตรียม "แผ่นพ้า" (ผ้าอ้อม) ฉีกจากผ้าห่มเก่า ผ้าขาวม้าเก่าเอาไว้ล่วงหน้าเพื่อห่อห่มน้องแอ น้องแอจะนอนใน "เสิง" (คล้ายกระดงสานด้วยไม้ไผ่สานเป็นลายโปร่ง) รองพื้นเสิงด้วยไม้กระดานกันหลังเด็กอ่อนโค้งงอ ก่อนจะปูด้วยฟูกและผ้าห่มจ่อง (ผ้าห่มที่มีพื้นสีขาว มีลายเป็นทางยาวหรือสี่เหลี่ยมสีแดง)

หลังคลอด ๒-๓ วันน้ำนมแม่ถึงจะมา ดังนั้นจึงเอาสำลีจุ่มน้ำผี้งหยดใส่ปากเด็กไว้ก่อนแก้หิวนม แมจะป้อนข้าวลูกตั้งแต่แรกคลอดหลังจากทำพิธีแก้เค้าแล้วด้วยการเคี้ยวข้าวป้อน ซึ่งข้าวเคี้ยวนี้บางคนก็เอาใบตองห่อย่างไฟก่อน ส่วนแม่ลูกอ่อนจะกินข้าวกับเกลือ กินปลาย่าง เนื้อหมูย่างเป็นต้น

เมื่อน้องแออายุครบ ๑ เดือนจะทำพิธี "สู่ขวัญน้องแอ" หรือ "สู่ขวัญหลานน้อย" ซึ่งจะรวมกับกทาสู่ขวัญผู้เป็นแม่ด้วย ต้องมีการเตรียมพาขวัญ (พา คือ ถาดที่ใช้ใส่วัสดุอุปกรณ์เครื่องทำขวัญ) พาวัญมีสิ่งของหลายสิ่ง สำหรับเตรียมทำขวํยดังนี้

 
พาขวัญจะมี ๒ พาขวัญ ในแต่ละพาขวัญให้นึกถึงธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จึงต้องวางสิ่งของไว้ในพาขวัญ อย่างละ ๔ มุม เช่น ข้าวต้ม ๔ หน่วย (กลีบ) กล้วยน้ำว้า ๔ ลูก (มีความเชื่อว่ากล้วยกับข้าวเลี้ยงเรามาตลอดชีวิต) ยกเว้นเค้าล้อมแล้ม (บัวลอย) ๒ ถ้วยเล็ก และเค้าเขียบปิ๊ง (ข้าวเกรียบปิ้ง) ใช้เพียง ๒ แผ่น หน้าพาชวัญมีตีนขัน (พานรองขัน) อย่างละใบ วัสดุอุปกรณ์ภายในตีนขันเรียกว่า ขันห้า ประกอบไปด้วย ซวยเบอตอง (กรวยใบตอง) อย่างละ ๑ คู่ มีข้าวสารรองพิ้น ภายในซวยจะใส่รูป ๕ ดอก เทียนไข ๑ เล่ม ดอกไม้สีขาว ๕ ดอก เหล้าชาวพื้นเมือง ๑ ขวด (มีความเชื่อว่าเหล้าเป็นน้ำอมฤต เป็นของศักดิ์สิทธฺิ์ ไม่เข้าใราออกใคร กินมากเมามาก กินน้อยเมาน้อย) เมื่อทำพิธีสู่ขวัญเสร็จแล้วก็จะ "พ่ายเหล้า" คือ การนำกรวยใบตองส่วนแหลมจุ่มเหล้าที่เทใส่แก้วไปใส่มือน้องแอและบริเวณบั้นท้าย และหน้าท้องของผู้เป็นแม่

การอยู่ไฟจะอยู่เป็นเวลา ๑ เดือน เมื่อออกไปแล้วต้องนำขันห้าไป "ขอสุมมา" (ขอขมา) แม่หมอตำแยและนำเงินบูชาคุณมอบให้ด้วย ซึ่งแล้วแต่กำลังทรัพย์ การตั้งชื่อเล่นของน้องแอนั้น จะดูตามลัษณะของเด็ก เช่น ชื่อ "แก่น" ถ้าดูแล้วจะซุกซน "อ้วน" ถ้าดูแล้วเจ้าเนื้อ เป็นต้น ส่วนชื่อจริงนั้นอาจจะให้พระหรือผู้รู้ตั้งให้ และนิยมตั้งให้คล้องจองกัน ถ้ามีพี่น้องหลายคน เช่น เคี่ยม ขวัญ

เมื่อครบเดือนจะนำลงมาเลี้ยงที่ใต้ถุนเรือน โดยทั้งจะโกนผมไฟโดยจะโกนในวันศุกร์ การเลี้ยงดูน้องแอ พ่อแม่จะประคบประหงมอย่างดี ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วย เช่น ลิ้นเป็นฝ้าขาวก็จะกวาดคอโดยใช้ ใบกระเพราแดง ๗ ยอด ย่อง (ขยี้) บนฝ่ามือหรือฝาถ้วยขนมครกใส่น้ำปูนใส ปูนแดงกินหมาก เกลือ พิมเสน ถ้าเป็นตุ่มอีกสุกอีใสก็จะใช้ ผักเขีอง (ผักเขืองคล้ายกับผักแว่น จะขึ้นตามที่ชื้น) ตำรวมกับขมิ้นทาตุ่มที่ตกสะเก็ด ถ้าเกิดท้องเสียก็จะต้มใบ "หม่าพิลา" (ใบทับทิม) ดื่ม ผู้ใหญ่ก็เช่นกัน ถ้าของมีคมบาดจนเลือดไหลจะห้ามเลือดหรือทำให้เลือดหยุด นั้นใช้ "เบ่อฝรั่ง" (ใบสาบเสือ) ตำผสมน้ำปูนใส หรือไม่ผสมก็ได้นำมาปิดปากแผลไว้ และถ้าผู้ใหญ่หรือเด็กเป็น "หมึน" (ลมพิษ) จะเอาต้นข่ามาตากแดดให้แข็งฝนผสมกับเหล้าขาวป่า (พ่น) บริเวณที่เป็น

ชาวไทยพวนศรีสัชนาลัยจะยึดมั่นในรจารีตประเพณี และเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ลูกหลานที่เป็นชายจะบวชสองครั้ง คือเมื่อครั้งเป็นเด็กชายจะบรรพชาเป็นสามเณรและเมื่อครบยี่สิบปีชายจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ

ปัจจุบันนี้วิถีชีวิตของชาวไทยพวนศรีสัชนาลัยได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยของความเจริญทางด้านวัตถุ เสียงเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง ได้รับความนิยมมากกว่าลำพวน "ตีนท่า" (ริมแม่น้ำยม) ที่้คยมีผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ให้เพาะปลูกพืชก็เปลี่ยนเป็นท่าที่สูงลาดชัน มีทรายมาทับ คนจะปลูกผักดั่งเช่นเมื่อก่อนก็ไม่ได้เสียแล้ว แต่ประเพณี วัฒนธรรมที่ดีงามก็ยังคงดำรงอยู่ ความรักใคร่ปองดองกันของพี่น้อง บ้านหาดเสี้ยว บ้านหาดสูง บ้านใหม่ และบ้านแม่ราก ไม่เคยคลอนคลาย เสียงตึฟืมทอผ้าก็ยังคงดังให้ด้ยินดั่งเช่นวันวานที่ผ่านมา
 
กลับสู่ด้านบน >
 
ภาษาไทยพวนโบราณ
 
เกียรติคุณที่ได้รับ
 
ดูวีดีโอจากรายการต่างๆ
รวมรูปภาพ
 
 
ที่อยู่: 477/2 ต.หาดเสี้ยว อ. ศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัย 64130 โทร. 055 671143 แฟกซ์. 055 630119
 
 
 
© Copyright 2012. Sathorn Gold Textiles Museum. All rights reserved.