งานประเพณีที่มีการฉลอง

ไทยพวนศรีสัชนาลัย
การละเล่น นางสะ (นางสาก)
 

งานประเพณีที่มีการฉลองนั้น ชาวไทยพวนศรีสัชนาลัยจะมีการละเล่นต่างๆได้แก่ นางกวัก นางสะ (นางสาก) นางด๊ง (นางด้ง) หม่าเตย (อีเตย) หม่าตี้ (ตี่) ไม้หม่าอื้อ แม่งู (งูกินหาง) หม่ากะเลิ้งเกิ้งกั๊บ (ลาวกระทบไม้) ลิงลม การร้องรำทำเพลงนั้นไทยพวนศรีสัชนาลัยจะมี "ลำพวน" เช่นเดียวกับไทยพวนถิ่นอื่น ลำพวนปกติจะนั่งลำผู้ฟังจะนั่งล้อมเป็นวง และเป็นลูกคู่ในบางครั้ง ดนตรีประกอบที่สำคัญ คือ แคน กลอนลำพวนมีทั้งเป็นกลอนสด แสดงปฎิภาณไหวพริบของผู้ลำ และจะมีกลอนลำที่มีการแต่งขึ้นกันอย่างไพเราะ มีการเรียงร้อยถ้อยคำที่ไพเราะคมคายเสนาะหูสื่อสารถึงความรักที่อ่อนหวานลึกซึ้ง เช่น

กลอนที่ร้อยเรียงคำไพเราะ

ยามมื้อตะวันเข้าเขาทองลับเหลี่ยม
ข้อยก็มอยป่องเอี๊ยมประสงค์สอดตาแล
ข้อยก็แลไปก่ำสาวนางบ้านอยู่
ถ้าบ่เห็นหน้าชู้บ่ยอมต่าวตาคืนถึงจี่มีเขาคั่นเขาตันเต็งซ่อง
มีแม่น้ำกว้างขวางหน้าข้อยก็ลอย
ตัวของข้อยมาหลงคอยคู่แล้วแน
ข้อยนี่จี่หมายแบะขวานป้ำหมู่ยูงยางไม้ใหญ่
ถ้าเป็นโชคฮ้ายอ้ายบ่ยอมต่าวกลับคืน
 

กลอนครูผวน ช่วงชวาลวงศ์

กลอนลำเกี้ยวหบอกเอินกันของหนุ่มสาว
คิดฮอดเจ้ากิ๋นเค้าบ่ลงคอ
บายไปจ้ำสามคำกะหมดก่อง
บัดเทื้อเห็นหน้าน้อง
จิไหลล่องปานเลอ...น้องเอ้ย
 
ยามมื้อ - ขณะที่ เวลา
มอย - มอง
ซู้ - ชู้ คู่รัก
แบะ - แบก
๙่อง - ช่อง
ป่อง เอี๊ยม - หน้าต่าง
ต่าวคืน - กลับคืน
ลอย - ว่ายน้ำ
แน - นะ
ป้ำ - ตัด
ก้ำ - ทิศทาง
เต็ง - ทับ
จิ - สิ
จะแน - นะ
     

การละเล่นนางกวัก

การละเล่นนางกวักนิยมเล่นในประเพณีกำฟ้า ซึ่งนายสาธรเล่าให้ลูกหลานฟังว่า เมื่อตอนเป็นเด็กเล็กจะชอบติดตามแม่ไปดูการเล่นนางกวัก ขณะดูก็จะเกิดความรู้สึกกลัวผีนางกวักมาก เพราะสมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้จึงใช้แต่ตะเกียงและเทียนไข ซึ่งจะให้แสงสว่างวอมแวม นอกจากนี้ผู้ใหญ่ยังตกแต่งตัวนางกวักให้เหมือนตัวคน คือ นำ "โป้" (กะลามะพร้าวแห้งครึ่งซึก) มาเป็นส่วนหัวและใบหน้ามัดไว้บนหัวกวัก ให้กวักเป็นลำตัว เอาไม้ไผ่สอดมาเป็นแขนจะสวมเสื้อแขนยาวให้ ใบหน้าทาด้วยถ่านไม้และปูนแดงเมื่อมองดูแล้วน่ากลัวมาก
 
การละเล่นนางกวักมีดังนี้
การเล่นนางกวักมีอุปกรณ์ที่สำคัญคือ ตัวของนางกวักสร้างจากการนำกวัก (อุปกรณ์ที่ใช้ปั่นด้าย) มาเป็นตัวใช้กะลามะพร้าวแห้งครึ่งซึก (โป้) ทำเป็นส่วนหัวและใบหน้า เจาะรูมัดไว้บนหัวกวักวาดคิ้ว ตา จมูก ด้วยถ่านไม้ทาปากด้วยปูนแดง นำเสื้อแขนยาวสีดำหรือเสื้อหม้อฮ่อมเก่ามาสวม เอาดอกมัดแขนเสื้อกับไม้ไผ่ให้แน่น
   
พิธีอัญเชิญผีนางกวัก
 
 
การเล่นนางกวัก
   
การเล่นนางกวักนิยมเล่นในเวลากลางคืน เริ่มด้วยพิธีอัญเชิญนางกวัก จะใช้ผู้หญิงที่ขวัญอ่อนหรือขวัญแข็ง อย่างไรก็ได้เป็นผู้อัญเชิญดวงวิญญาณของบรรพบุรุษมาสิงสถิตเพื่อเสี่ยงทาย อาจเป็นเรื่องคู่รัก การทำงานและโชคชะตาชีวิต มีขั้นตอนการเล่นคือ ใช้ไม้ไผ่ขนาดยาวพาดหลังคาบ้าน โดยลำไผ่จะอยู่ชิดติดกับตัวนางกวักและกระด้งวางสิ่งของที่ใช้ประกอบพิธีอัญเชิญบรรพบุรุษมาเข้าสิง จากนั้นเมื่ออัญเชิญผีบรรพบุรุษเสร็จแล้วจะนำสากตำข้าว ๒ อัน มาวางไว้กับพื้นดินเป็นฐานรองรับตัวนางกวัก คนที่ถือนางกวักต้องเป็นคนที่ขวัญอ่อน เมื่อจับแล้วจะรู้ว่าผีบรรพบุรุษเข้าทรงหรือไม่นั้นขึ้นอยู่ที่การเคลื่อนไหวของตัวนางกวัก ซึ่งผู้ถือจะรับรู้เอง เมื่อกวักเกิดการสั่นแล้ว ผู้คนที่มาดูร่วมกันร้องเพลงให้นางกวักเต้น
 
เพลงนางกวัก
"นางกวักเอ้ย
อีพ่อหยักแหย่
ก้นหยุกก้นหยอ
เจ้าอวดเจ้าอ้าง
ตกดินตกทราย
เจ้าแอ้งแม่ง
นางสีดา
นางกวักเจ้าแม่กวัก
อีแม่แหย่ยอ
มาสูงเอียงข้าง
ต่ำหุ้ดือนหงาย
เดือนแจ้ง
จากฟ้าลงมา
แก่นแหนต้อนแต้น ต้อนแต้น"
 
ในขณะที่ร้องเหลงให้นางกวักเต้นอยู่นั้น จะมีการถามถึงโชคชะตาราศีของตนหรือเรื่องอื่นๆ ที่สนใจใคร่รู้ ชายหนุ่มหญิงสาวมักให้นางกวักทำนายเรื่องคู่ครองซึ่งเป็นเรื่องสนุกสนาน

นางกวักจะตอบด้วยการแสดงกริยาอาการ เช่น ด้วยการใช้ปลายแขนเขียนเป็นตัวหนังสือหรือใช้ปลายแขนทิ่มดินนับเป็นครั้ง การเล่นนางกวักจะไม่เล่นจนดึกดื่นจะทำให้พิธีเชิญนางกวักออกด้วยการเอาไม้พาดบนชายคาบ้านนั้นออก วิญญาณที่เชิญมาเล่นนางกวักก็จะออกจากร่าง เป็นการเสร็จพิธีการเล่นนางกวัก

การละเล่น "นางสะ" (นางสาก)

"สะ" ของภาษาไทยพวน คือ สาก หรือตะลุมพุกของภาษากลาง สากทำด้วยไม้เนื้อแข็ง สากตำข้าวมี ๒ แบบ คือ สากที่ใช้กับครกซ้อมมือหรือตำด้วยมือ และสากที่ใช้กับครกกระเดื่อง ซึ่งใช้เท้าเหยียบไม้ให้กระเดื่องยกสาก ขึ้นลงตำข้าวในครก

ชาวไทยพวนศรีสัชนาลัยจะนำครกซ้อมมือกับสากตำข้าวมาเป็นอุปกรณ์การเล่น "นางสะ" หรือ นางสาก การละเล่นชนิดนี้จะเล่นระหว่างประเพณกำเกียง

การละเล่น "นางสะ" จะเริ่มด้วยการนำครกซ้อมมือพร้อมสากตำข้าวมาชุดหนึ่ง นางทรงหนึ่งนาง โดยที่นางทรงจะต้องไปขึ้นไปนั่งบนครกถือสากตั้งขึ้นใช้ผ้าห่มคลุมร่างทรงและสากไว้ คนอื่นๆที่ยินอยู่รอบครกจะร้องเพลงเชิญ "ผีนางสะ" มาประทับร่างทรง เพลงที่ร้องมีเนื้อดังนี้

"นางสะเอย กะผีเพียนแดง สาวน้อยดำแดง อีซู่กำแพง
ถอยหลังกลับไป ถอยหลังกลับมา ขอยืมมีด จะเอาไป
ฟันหลัว ขอยืมผัว จะเอาไปเป่าปี่ นะปี้เอย ก็ตีน้องข้า
ลมพัดเข้ามา ผู้ข้า .............. "
การร้องเพลงและปรมมือเป็นจังหวะจะร้องเพลงกลับไปกลับมาจนกว่า "ผีนางสะ" จะประทับร่างทรง โดยสังเกตุจากสากที่ร่างทรงถือไว้จะโยกไปโยกมา คนล้อมวงจะเปิดผ้าห่มที่คลุมร่างทรงออกเอาร่างทรงลงจากครกตำข้าว เอาสากออกจากมือร่างทรง จากนั้นผู้ดูจะซักถามร่างทรงเกี่ยวกับเนื้อคู่บ้าง หรือให้ร่างทรงทำกริยาอาการตามคำสั่งบ้างล้วนแล้วแต่เพื่อสร้างความชบชันสนุกสนาน ในขณะที่ "ผีนางสะ" ประทับร่างทรงจะไม่พูดจาแต่จะสื่อสารกับผู้ดูด้วยการแสดงกริยาอาการ เช่น ส่ายหัว พยักหน้าหรือชี้นิ้ว เป็นต้น

เมื่อต้องการให้ "ผีนางสะ" ออกจากร่างทรง จะพาร่างทรงไปลอดใต้บันไดสามรอบหรือเดินผ่านบริเวณน้ำโสโครก ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบต่อกันมาว่าถ้า "ผีนางสะ" ไม่ยอมออกจากร่างทรง ผู้ที่เป็นร่างทรงจะเสียสติหรือเป็นบ้าไปก็มี
 
กลับสู่ด้านบน >
 
ภาษาไทยพวนโบราณ
 
เกียรติคุณที่ได้รับ
 
ดูวีดีโอจากรายการต่างๆ
รวมรูปภาพ
 
 
ที่อยู่: 477/2 ต.หาดเสี้ยว อ. ศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัย 64130 โทร. 055 671143 แฟกซ์. 055 630119
 
 
 
© Copyright 2012. Sathorn Gold Textiles Museum. All rights reserved.