สาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ

ไทยพวนศรีสัชนาลัย
สาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ บ้านหาดเสี้ยว
 

สาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ บ้านหาดเสี้ยว ได้มีการจัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของผ้าทอลายโบราณของชาวไทยพวน บ้านหาดเสี้ยว ไว้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นจกเก้าลายบ้านหาดเสี้ยว ผ้าที่ใช้ในพิธีบวชนาคด้วยขบวนช้าง ผ้าที่ใช้ในพิธีแต่งงาน ซึ่งล้วนเป็นเอกลักษณ์ผ้าทอมือของชาวไทยพวน บ้านหาดเสี้ยว ที่สืบทอดต่อกันมานับร้อยๆปี

 
คุณสาธร โสรัชประสพสันติ กำลังบรรยายให้แก่ผู้ที่เข้ามาชมภายในพิพิธภัณฑ์

ผู้สืบเชื้อคงสายชาวไทยพวนศรีสัชนาลัย

นายสาธร โสรัจประสพสันติ เป็นบุตรคนที่ ๑ ในจำนวน ๙ คน ของนายอินทร์ กะบาย และ นางฮ่อน กำหนด เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๔๘๔ ณ บ้านเลขที่ ๘๕ หมู่ ๓ บ้านหาดสูง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

เมื่ออายุ ๔ ขวบ พ่อแม่ย้ายครอบครัวไปสร้างบ้านหลังใหม่อยู่ที่บ้านใหม่ไม่ไกลจากหมู่บ้านเดิมนัก บ้านหลังใหม่นี่ได้เลขที่ ๑๒ หมู่ ๔ บ้านใหม่ ตำบลบ้านหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

อายุ ๗ ขวบถึงเกณฑ์เข้าโรงเรียน ได้เรียนชั้น ป.๑ ถึง ป.๔ ที่โรงเรียนบ้านหาดสูง ปัจจุบันนี้คือ โรงเรียนอนุบาลศรีสัชนาลัย (บ้านหาดสูง) ด้วยฐานะทางบ้านยากจน และมีน้องๆอีกหลายคน เด็กชายสาธร ในขณะนั้นจึงไม่มีโอกาสได้เรียนต่อในระดับชั้นสูงขึ้นไปทั้งที่มีความใฝ่ฝันอยากเรียนต่อเป็นที่สุด พ่อมีความสงสารลูกจึงพาไปฝากเป็นเด็กท้ายรถชักไม้ อยู่ที่ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เพื่อไม่ให้คิดมากที่เห็นเพื่อนๆสนิทได้เรียนต่อกันเกือยทุกคน

เด็กท้ายรถชักไม้ได้ไม่นาน ก็ล้มป่วยเป็นไข้มาลาเรียเจียนตายจึงกลับมาพักรักษาตัวที่บ้าน เมื่อหายป่วยไม่ได้กลับไปทำงานที่เดิม แต่มารับจ้างดำนา เกี่ยวข้าว ได้ค่าแรงวันละ ๓ บาท ๕๐ สตางค์ ค่าแรงที่ได้มานำมาช่วยเหลือจุนเจิอครอบครัว

นายสาธร เป็นผู้มีความกระตือรือล้นอยู่เสมอ เห็นว่าการรับจ้างดำนาเกี่ยวข้าวอย่างเดียวนั้นได้เงินน้อย แต่งานหนัก เมื่อเห็นเพื่อนบ้านขายขนมจีนได้เงินดีกว่าจึงหันมาทำขนมจีนหาบเร่ขายเอง เป็นพ่อค้าเร่ขายขนมจีนอยู่ได้ไม่นานญาติที่บ้านหาดเสี้ยวมีข้อเสนอว่าเจ้าของร้านเย็บเสื้อผ้าที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ต้องการคนไปทำงานบ้านและเลี้ยงลูกให้เขา แล้วเขาจะสอนตัดเย็บเสื้อผ้าให้ฟรี นายสาธรตัดสินใจไปทันที เมื่อไปถึงก็พบว่าเจ้าของร้านมองด้วยสายตาดูหมิ่นว่าเป็นเด็กบ้านนอก จึงตั้งปฎิธานอย่างมุ่งมั่นว่า "จะต้องสร้างชีวิตของตนเองให้สำเร็จจงได้" แต่พบว่าที่นี้ไม่ได้ให้อะไรที่ทำให้ชีวิตนี้ดีขึ้นเลย จึงติดต่อน้าชายที่อยู่อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ซึ่งทำงานเป็นผู้ช่วยนายสถานีรถไฟบ้านหมี่เพื่อขอทำงาน

น้าชายบอกว่า "เธอความรู้น้อย คงทำได้เฉพาะงานเช็ดตู้รถไฟ ถางหญ้าริมทางรถไฟ จะทำงานในตำแน่งสูงๆ คงเป็นไปไม่ได้ เป็นได้แค่คนการรถไฟเท้่นั้น"

คำพูดของน้าชาย ไม่ได้ทำให้ความตั้งใจอยากทำงานการรถไฟน้อยลงเลย จึงทำงานในตำแหน่งคนการรถไฟ ด้วยความขยันและอดทน

๔ เดือนผ่านไป เกิดความคิดได้ว่าเช็ดตู้รถไฟถางหญ้าริมทางรถไฟไม่ใช่อาชีพที่นำทางก้าวหน้ามาสู่ตนได้ นายสาธรขอลาออกจากคนการรถไฟ โดยตั้งใจแน่วแน่อีกครั้งหนึ่งว่า จะต้องมีร้านตัดเย็บผ้าเป็นของตนเอง และตัวเองได้เป็น "เถ้าแก่" จึงได้ติดต่อหาร้านเย็บเสื้อผ้าที่บ้านหมี่ ผลปรากฎว่าได้เย็บผ้าที่นี่ และรายได้ดีขึ้น แต่หัวใจรักการเดินทางของนายสาธรยังไม่สิ้นสุด เพื่อนที่กรุงเทพฯ ได้ชวนไปทำงานร้านตัดเย็บเสื้อผ้าด้วยกัน เพราะรายได้สูงกว่าที่ทำอยู่ จึงได้ตัดสินใจไปทันที ด้วยความอยากได้ความรู้ด้านการตัดเย็บเสื้อผ้า จึงไปเรียนที่โรงเรียนการช่างพระนครเหนือ

บัดนนี้ความฝันอยากเรียนต่อในวัยเด็กได้เป็นจริงแล้ว แต่เป็นการตัดเย็บเสื้อผ้า เหมือนจะบอกอะไรบางอย่าง เมื่อสำเร็จการศึกษาได้ทำงานอยู่ที่เดิมจนวันเวลาผ่านไปเนิ่นนานพอสมควร เวลาผ่านไปความเชี่ยวชาญทางด้านการตัดเย็บเสื้อผ้าก็เพิ่มมากขึ้น

ทว่า ชีวิตเหมือนดั่งละครโรงใหญ่ มีผู้ชักนำ ให้นายสาธร เข้าสู่วงการบันเทิงในฐานะตัวประกอบภาพยนตร์อยู่หลายเรื่อง ได้มีโอกาสรู้จักบุคคลในวงการบันเทิงมากมายหลายท่าน

ดังได้กล่าวมา นายสาธรมีหัวใจ รักการเดินทาง เห็นว่ากรุงเทพฯไม่ใช่เมืองที่น่าอยู่สำหรับตนจึงย้ายไปอยู่ที่เมืองรถม้า...ลำปาง เนื่องจากมีน้องสาวอยู่ที่นั่น โดยไปรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า และขายสินค้าประเภทเครื่องประดับเล็กๆน้อยๆ

ชีวิตผกผันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อได้ไปเยี่ยมชมรายการของสถานีโทรทัศน์ช่อง ๘ ลำปาง จึงได้พบกับบุคคลสำคัญต่อชีวิตท่านหนึ่ง คือ นาวาอากาศเอกวิมล เสนาณรงค์ ซึ่งเคยพบกันมาแล้วในวงการบันเทิง

นายสาธรได้ตรงเข้าไปยกมือไหว้ทักทาย ในจังหวะที่ท่านรับไหว้นั้น นายสาธรได้เหลือบไปมองเห็นแหวนที่มีหัวอันงดงามมากบนนิ้วมือของท่าน จึงเอ่ยปากชม
"แหวนท่านสวยมากครับ"
"เพิ่งจะซื้อที่ลำปาง ราคาวงละ ๓๐๐ - ๔๐๐ บาท"


พอได้ยินเช่นนั้นก็รู้สึกแปลกใจว่าทำไมจึงราคาแตกต่างจากแหวนที่ตัวเองนำมาขาย ท่านได้เอ่ยถามว่ามีขายไหม ตอบท่านว่ามี และท่านได้ให้นามบัตรไว้ จึงนำไปขายให้ท่านอยู่บ่อยครั้ง เมื่อสะสมเงินทองไว้พอจะตั้งครอบครัวได้ นายสาธรตัดสินใจกลับมาบ้านที่อำเภอศรีสัชนาลัย เพื่อสู่ขอ นางสาวยุพร เขียนทอง เป็นคู่ชีวิต โดยพักอาศัยอยู่บ้านแม่ยายที่บ้านหาดเสี้ยว กิจการติดต่อขายหัวโป่งขามก็ยังจะขายอยู่เป็นประจำ ท่านเห็นว่าเป็นคนจังหวัดสุโขทัย วันหนึ่งท่านบอกว่า "สาธร มาคราวหน้าอย่าลืมหาพระเก่ามาให้ดูด้วย" นายสาธรได้ยินว่า "ผ้าเก่า" ผ้าเก่าเป็นอย่างไรนะ นายสาธรรู้สึกแปลกใจมากแต่ไม่ได้ถามใคร จนวันหนึ่งเห็นผู้หญิงชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยวนุ่งซิ่นไปวัด ซิ่นนั้นสวยงามมากมีลวดลายแปลกตาอยู่หลายลาย ซึ่งเป็นผ้าซิ่นเก่าจึงคิดว่านี่แหละคือผ้าซิ่นเก่า

ก็เอะใจขึ้นมา จึงไปถามญาติเกี่ยวกับผ้าซิ่นที่ชาวบ้านเรานิยมใส่ไปวัด ญาติบอกซิ่นที่เห็นนั้น คือ "ซิ่นตีนจก" มีวิธีการทอที่ยุ่งยากมาก เขาขายกันราคาแพงนะ

นายสาธร ขอยืมญาตินำผ้าซื่นตีนจกไปให นาวาอากาศเอกวิมล เสนาณรงค์ ดู แล้วถามญาติว่า ถ้าเขาจะซื้อขายจะผืนละเท่าไหร่ ได้รับคำตอบว่า ผืนละ ๓๐๐ บาท บังเอิญมีอยู่ ๓ ผืน จึงรับเอาไปทั้งหมด เมื่อนาวาอากาศเอกวิมล เสนาณรงค์เห็นก็หัวเราะ พูดว่า "ผมต้องการพระเก่า ไม่ใช่ผ้าเก่า" ท่านจึงกรุณาแนะนำให้เอาไปให้หม่อมดุษฎี บริพัตร ที่เป็นผู้สนใจเรื่องผ้า

เป็นไปตามที่นาวาอากาศเอกวิมล เสนาณรงค์ ว่าไว้ หม่อมดุษฎี บริพัตร สนใจมาก ได้รับซื้อไว้ทั้ง ๓ ผืน และยังบอกว่าถ้ามีอีกก็เอามาขายให้ด้วย นายสาธรได้เสาะหาผ้าตีนจกโบราณและทำขึ้นใหม่ไปขายให้หลายครั้ง แต่ด้วยโทนสีผ้าตีนจกเป็นเพียงแค่พื้นสีแดง มีสีสันฉูดฉาดบ้างผสมกันไป หม่อมดุษฎี บริพัตร จึงได้แนะนำให้ทำขึ้นมาใหม่ให้แปลกไปจากของเดิมบ้าง นายสาธรกับมาบอกแม่ และว่าจ้างเพื่อนบ้านให้เปลี่ยนสีพื้นเป็นสีดำบ้าง สีน้ำเงินบ้าง ปรากฏว่า เพื่อนบ้านเห็นแล้วพากันหัวเราะพูดว่า

"แม่ฮ่อน ทำอย่างนี้ระวังฟ้าจะผ่าหัวเอานะ เพราะผ้าซิ่นตึนจกของบ้านเรา มีแค่พื้นสีแดง ไปเชื่อลูกชายซึ่งมาบอกให้ทำบ้าๆบอๆ"

บังเอิญแม่ไม่เชื่อชาวบ้าน เชื่อลูกชาย จึงทอผ้าซิ่นตีนจกตามที่หม่อมดุษฎี บริพัตร ให้คำแนะนำไปขายก็ขายคล่องและได้ราคาดี
 
นายสาธร ได้นำผ้าซิ่นตีนจกไปประยุกต์เป็นลายเนคไทน์ เสื้อผ้าสุภาพบุรุษ และสุภาพสตรี ตกแต่งกระเป๋าถือสตรี ส่งผลให้มีการกระจายรายได้ของท้องถิ่น เป็นการฟิ้นฟูอาชีพการทอผ้าอาชีพดั้งเดิมของสตรีชาวไทยพวน นายสาธรมีความปลื้มปิติเป็นอย่างยิ่ง ที่ตนมีส่วนผลักดันซึ่งเกิดจากคำแนะนำอันมีค่าของหม่อมดุษฎี บริพัตร

วันหนึ่งเมื่อนายสาธรนำผ้าไปขายให้หม่อมดุษฎี บริพัตร ก็พบอาจารย์อวบ สานะเสน ซึ่งเป็นเจ้าของศูนย์ศิลปะนวลนาง ได้มาที่บ้านของหม่อมดุษฎี บริพัตร ได้เห็นผ้าซิ่นตีนจกก็เอ่ยปาก "ผมก็สนใจนะถ้ามาคราวหน้าหม่อมไม่เอาผืนไหนผมจะเอาเอง แต่ต้องบอกรายละเอียดผ้าตีนจกได้ ว่ามีความหมายว่าอย่างไรบ้าง เพราะจะเอาไปสอนนักศึกษาที่มหาลัยศิลปากร"

นายสาธรได้ทำตามคำขอร้องของอาจารย์อวบ สานะเสน คือเเมื่อไปซื้อตีนจกเก่าตามบ้าน ก็จะถามคนแก่อยู่เสมอว่า ผ้าผืนนั้ชื่อลายอะไร ลายนั้นๆมีความหมายว่าอย่างไรบ้าง และได้ทำการจดบันทึกไปให้อาจารย์อวบ สานะเสน ทุกครั้งที่ไปขายผ้า

วันหนึ่งอาจารย์อวบ สานะเสน ถามว่า "สาธร จกบ้านแกทั้งหมดมีกี่ลาย" นายสาธรกลับมาถามคนแก่ ท่านเหล่านั้นได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มีการถกเถียงกันในกลุ่มอย่างสนุกสนาน มีลายดังนี้ เครือน้อย เครือกลาง เครือใหญ่ สี่ขอ แปดขอ น้ำอ่าง สิบสองหน่วยตัด มนสิบหก และสองท้อง ถกเถียงกันได้จบแค่นี้ ก็เลย สรุปได้ว่าตีนจกไทยพวนศรีสัชนาลัยมีทั้งหมดเก้าลาย

อาจารย์อวบ สานะเสน ยังไม่สิ้นสุดความเป็นผู้ใฝ่รู้แท้ ได้ถามต่อไปอีกว่า "ตีนจกแต่ละลายใช้ต่อผ้าซิ่นอะไรบ้าง"และยังถามต่อไปอีกว่า
"ผ้าตีนจกบ้านแกเก่านี้มีอีกไหม"
"มีครับ"
"อยากได้เก่าประมาณ ๗๐ - ๘๐ ปีขึ้นไป และเก่ากว่านี้มีอีกไหม"

"มีครับแต่มันขาดสภาพไม่สมบูรณ์"
"ผมอยากได้ขาดๆ ถ้าได้มา กรุณาจดชื่อคนทอ ชื่อลาย บ้านเลขที่เจ้าของผ้ามาให้ด้วย"


นายสาธรเสาะหา แต่ได้ไปเพียง ๖ ผืน ชาวบ้านจะไม่เอาเงิน ก็เลยให้ไปคนละ ๓๐ บาท
นายสาธร นำไปให้อาจารย์อวบ สานะเสน โดยไม่คิดเงิน ก็ได้รับคำขอบคุณจากอาจารย์อวบ สานะเสน เป็นอย่างมาก

เวลาผ่านมาเดือนเศษ นายสาธรได้ไปที่บ้านอาจารย์อวบ สานะเสน อาจารย์ได้ชวนให้ขึ้นไปที่ห้องแสดงงานศิลปะ เพื่ออวดเตียงโบราณที่ซื้อมาจากจังหวัดอยุธยา เป็นเตียงไม้เก่าสวยงามมาก ที่ห้องนี้นายสาธรได้เหลือบไปเห็นผ้าซิ่นตีนจกเก่า ที่เคยแถมให้อาจารย์อวบ สานะเสน โดยไม่คิดเงิน เพราะคิดว่าเป็นของเก่าขาดแล้วคงไร้ค่าราคา แต่ปรากฏว่าอาจารย์อวบ สานะเสน นำมาเชิดชูไว้อย่างของล้ำค่า จัดแสดงไว้ในที่สวยงามมีไฟส่อง เขียนชื่อลายผ้า ชื่อคนทอ และบ้านเลขที่ของคนทอบนใบลาน ดูศักดิ์สิทธิ์ ทำให้เกิดความปลื้มปิติยินดีที่เห็นชื่อชาวบ้านผู้ยากไร้ ได้มีเกียรติมาปรากฏอยู่ในสถานที่อันมีชื่อเสียง

นายสาธรได้ฉุกคิดขึ้นมาว่า เราก็เป็นคนพวนโดยแท้เป็นลูกหลานผู้สร้างลายผ้า ถ้าเรามีบ้านสักหลังหนึ่ง เราจะมีห้องแสดงผ้าตีนจก ผ้าเก่าโบราณ เพื่ออวดภูมปัญญาของบรรพบุรุษให้ลูกหลานคนพวน คนต่างถิ่น และต่างชาติ ได้มาชื่นชมศศึกษา อีกทั้งตนเองก็ได้แสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ด้วยการได้มีส่วนสืบสานภูมปัญญาชาวบ้านด้านการทอผ้าที่บรรพบุรุษนำติดตัวมาจากเมืองพวน แขวงเมืองเชียงขวาง ประเทศลาว อันเป็นถิ่นเดิมของชาวไทยพวนศรีสัชนาลัย
 
กลับสู่ด้านบน >
 
ภาษาไทยพวนโบราณ
 
เกียรติคุณที่ได้รับ
 
ดูวีดีโอจากรายการต่างๆ
รวมรูปภาพ
 
 
ที่อยู่: 477/2 ต.หาดเสี้ยว อ. ศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัย 64130 โทร. 055 671143 แฟกซ์. 055 630119
 
 
 
© Copyright 2012. Sathorn Gold Textiles Museum. All rights reserved.